ก่อนอื่นใด ต้องขอขอบคุณ หลวงพี่และพี่ๆ ที่บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงระยะเวลานั้น ทำให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ในขณะนั้นได้ถูกต้องมากขึ้น
(ผมขอสงวนนามของหลวงพี่และพี่ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านครับ)
บทความนี้จะเน้นไปที่ตะกรุดที่อยู่ในองค์พระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ พร้อมกับมาค้นหาคำตอบว่า ทำไมตะกรุดเนื้อเงิน ถึงเป็น “เงินแปะตั้ง” แล้วเหตุผลใดถึงไม่ใช้ “เงิน” แท้ๆ และยังคงใช้ “เงินแปะตั้ง” มาทุกรุ่นทุกพิมพ์ จนกระทั่งหลวงปู่มรณภาพ
หลักๆของการดูพระเครื่องของหลวงปู่ จะดูสามอย่างประกอบกัน - พิมพ์ทรง - เนื้อหา มวลสาร - ตะกรุด (ในองค์พระ พิมพ์ที่มีตะกรุด)
ถ้าเราเข้าใจลักษณะธรรมชาติของตะกรุด เราก็สามารถพิจารณาและคัดแยกพระได้อีกวิธี
เราควรรู้และศึกษาธรรมชาติของตะกรุด เพื่อใช้ในการพิจารณาทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าจะดูแค่พิมพ์ทรงกับเนื้อหา มวลสารอย่างเดียว
ตะกรุดที่อยู่ในองค์พระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ เป็นการนำเอาแผ่นโลหะชนิดที่ต้องการ ขนาดประมาณฝ่ามือ หรือ สองฝ่ามือ มาให้ลูกศิษย์จารหรือเขียนยันต์ จากนั้นวางใส่พานถวายให้หลวงปู่อาราธนาปลุกเสก แล้วค่อยนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆและม้วนเป็นตะกรุด เพื่อนำมาใส่ในพระเครื่อง
ตามคำบอกเล่าของคนที่จารหรือเขียนยันต์ให้หลวงปู่ ทุกคนต้องมาเรียนวิธีการเดินยันต์กับหลวงปู่ท่านก่อน
แล้วไม่ใช่แค่เดินยันต์ได้เท่านั้น ต้องสามารถเขียนยันต์ใส่ฝ่ามือแล้วเป่าไปที่ดอกบัวให้ยันต์ติดที่ดอกบัวทุกกลีบได้ เรียกได้ว่าต้องมีวิชาระดับครูเลยทีเดียว
ลักษณะของการใส่ตะกรุดไปในองค์พระมีสองวิธีคือสอดเข้าไป กับวางลงไป
พระเครื่องพิมพ์ที่มีตะกรุดแบบสอดเข้าไป หลังจากเอาองค์พระออกจากแม่พิมพ์ จะดันตะกรุดเข้าไปในจุดที่ต้องการ พระเครื่องพิมพ์ที่ใช้วิธีสอดตะกรุดเข้าไป เช่น พระสีวลีพิมพ์สี่เหลี่ยม
ส่วนในองค์พระเครื่องพิมพ์ที่ใช้วิธีการวางตะกรุด ก่อนกดพิมพ์ จะทำการวางตะกรุดไปที่บล็อกด้านหน้าซึ่งวางอยู่ข้างล่าง จัดระเบียบให้อยู่ตรงที่ ที่ต้องการ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ข้างล่างใต้ตัวองค์พระ ไม่ว่าจะมีตะกรุดกี่ดอกก็ตาม แล้วนำมวลสารทีเพิ่งตำเสร็จใหม่ๆ มาปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้ววางทับไปบนตะกรุดในบล็อกแม่พิมพ์
การหยิบมวลสารเป็นการกะเกณฑ์ด้วยสายตา ถ้าลูกใหญ่หน่อย พระก็จะมีลักษณะที่ค่อนข้างหนาตามขนาด
เมื่อทำการวางมวลสารแล้ว จะทำการกดพิมพ์ด้วยการกดกระแทกบล็อกด้านหลังลงไป ถ้ากดกระแทกแรงเกินไป ตะกรุดก็สามารถถูกเคลื่อนย้ายไปตามแรงกระแทกได้ จึงทำให้มีพระเครื่องบางองค์ ที่ไม่สามารถมองเห็นตะกรุดได้ เพราะตะกรุดได้เคลื่อนตัวเข้าไปในองค์พระทั้งดอก หรือไม่ก็ไปโผล่ที่อื่นๆได้ เช่น ที่เข่า ที่ขอบ เป็นต้น
โลหะทีใช้ทำตะกรุดมีอยู่สองชนิด คือ “ทองคำ” กับ “เงินแปะตั้ง” พี่ๆน้องๆสามารถเข้าไปอ่านว่า “เงินแปะตั้ง” คืออะไรได้ในบทความเรื่อง ตะกรุดเนื้อเงิน ปี 2510
คำถามที่ทุกคนสงสัย และเป็นคำถามที่ถกเถียงกันไม่จบคือ เหตุผลอะไรถึงใช้ “เงินแปะตั้ง” ทำไมถึงไม่ใช้ “เงิน” แท้ๆ แล้วทำไมถึงใช้มาทุกรุ่น ตั้งแต่พระปิดตาจัมโบ้ 1 ถึง พระปิดตารุ่นท้ายๆก่อนหลวงปู่มรณภาพ
พวกเราเคยได้ยินคราวๆมาแล้ว เรื่องทางวัดต้องการลดต้นทุนในการจัดสร้าง บางคนถึงกับว่าทางวัดโดนโกง โดยทางร้านแอบเอา “เงินแปะตั้ง” มาให้แทน “เงิน” แท้ๆ
จากการสอบถามผู้รู้และอยู่ในเหตุการณ์ ได้เล่าถึงเรื่องการจัดสร้างให้ฟัง และอธิบายให้ฟังว่าทำไมถึงต้องใช้ “เงินแปะตั้ง”
ที่นี่เรามาเข้าใจกระบวนการจัดสร้างวัตถุมงคลของทางวัดในสมัยก่อน ซึ่งรวมถึงวัดประดู่ฉิมพลีด้วย
เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้นหรือก่อนหน้านั้น ที่ทางวัดจะบอกบุญต่อกรรมการวัดและลูกศิษย์ให้ช่วยหาทุนเพื่อสร้างวัตถุมงคล วัดไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะเอามา สร้างวัตถุมงคลเองได้ แล้วลูกศิษย์ก็ต้องช่วยกัน บริจาคทุนทรัพย์โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือคิดว่าตัวเองจะต้องได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทน
พระครูวิโรจน์กิตติคุณ ท่านเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดสร้างพระเครื่องในหลายๆรุ่น รวมถึงพระปิดตาด้วย ท่านได้บอกบุญกับพวกลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่ เพื่อทำการจัดสร้างวัตถุมงคล ตามวิถีที่ปฎิบัติกันมาในยุคสมัยนั้น
ที่นี่เรามาวิเคราะห์เหตุผลที่ “ต้อง” ใช้ “เงินแปะตั้ง” กัน
เหตุผลที่ 1: ราคาพระเครื่องที่ออกให้บูชาจากวัด
เรามาดูราคาพระเครื่องเป็นบางรุ่น ที่ออกจากวัดกันก่อน
พระปิดตาจัมโบ้ 1 เนื้อใบลาน ราคา 100 บาท พระปิดตาจัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน ราคา 100 บาท พระปิดตาปลดหนี้ หลังยันต์นะ เนื้อใบลาน ราคา 50 บาท พระปิดตาปลดหนี้ หลังยันต์ตรี เนื้อใบลาน ราคา 50 บาท
ซึ่งราคาไม่ได้สูงอะไรมากมาย เรียกว่าจับต้องได้
ถ้าต้องใช้ “เงิน” แท้ๆ มาทำตะกรุด กรรมการและลูกศิษย์คงบอกว่า อย่าทำดีกว่า เอาเงินที่จะนำมาใช้ในการสร้าง บริจาคเข้าวัดไปเลย ไม่ต้องมานั่งเสียเวลา มากดพระแล้วต้องมานั่งให้บูชาอีก หรือไม่ก็ต้องตั้งราคาให้บูชาสูงขึ้น แล้วใครอยากจะบูชา
พระเครื่องในสมัยนั้นที่ออกให้บูชาจากวัดอื่นๆ เท่าที่รู้แทบไม่มีวัดไหนใส่ตะกรุดในพระเครื่องเลย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งไม่สามารถออกให้บูชาในราคาย่อมเยาว์ได้
เหตุผลที่ 2: กรรมการและลูกศิษย์
กรรมการและลูกศิษย์หลายๆคน ประกอบกิจการอยู่แถว ทรงวาด, สำเพ็ง, เยาวราช, และสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งมีความรู้เรื่องโลหะ ทั้ง “ทอง” “เงิน” “ทองแดง” “ทองเหลือง” และที่สำคัญ “เงินแปะตั้ง” เป็นอย่างดี
คงมีการแนะนำให้ใช้ “เงินแปะตั้ง” เพราะไม่ขึ้นสนิม และคงความมันเงาได้นานกว่า แทนที่จะใช้โลหะที่ราคาพอๆกันและหาได้ง่ายกว่า เช่น ทองแดง หรือ ทองเหลือง
เชื่อได้เลยว่า ทั้งทองแดงและทองเหลือง ต้องถูกนำมาพิจารณาที่จะเอามาใช้ด้วย แต่โลหะทั้งสองชนิดเป็นโลหะที่คล้ำหมอง และไม่มันเงาเร็วมาก
ด้วยเหตุผลนี่แหละ “เงินแปะตั้ง” ถึงได้ถูกนำมาใช้
ถ้าตอนนั้นมีการตัดสินใจที่จะใช้โลหะชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ “เงินแปะตั้ง” เช่นทองเหลือง หรือทองแดง ซึ่งหาได้ง่ายในปัจจุบัน วงการพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะคงจะไม่เป็นแบบนี้ เพราะจะทำให้ตะกรุดง่ายต่อการปลอมแปลง ทำให้พระเครื่องของหลวงปู่ดูยากขึ้น แล้วทำให้ความนิยมลดลง เหมือนที่หลายสายประสบกันอยู่ในเวลานี้
นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลดีให้กับวงการพระเครื่องของหลวงปู่เลยทีเดียว
สรุปที่บอกต่อๆกันมาว่า วัดต้องการลดต้นทุนการจัดสร้าง เป็นจริงแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากว่า วัดไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายเอง เป็นการร่วมกัน ทำบุญของกรรมการและลูกศิษย์ และด้วยเรื่องการควบคุมต้นทุนและราคาการออกให้บูชาพระเครื่อง ที่ไม่ต้องการให้สูงเกินไป เพื่อที่ญาติโยมสามารถบูชาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าวัดไม่ทำอะไรเลย วัดกับลูกศิษย์ก็ช่วยสร้างช่วยกันทำ เพื่อประโยชน์ของวัดโดยส่วนรวม
แล้วเรื่องที่ว่าทางวัดโดนโกง ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากรรมการและลูกศิษย์ หลายๆท่านมีความรู้เรื่องโลหะเป็นอย่างดี คงไม่มีใครกล้าย้อมแมวมาขาย
ก็หวังว่าพวกเราจะคลายความสงสัยที่ถกเถียงกันมานานกว่าสี่สิบปีได้
พระปิดตา ปลดหนี้ เนื้อเกสร หลังยันต์นะ - ตะกรุดเป็นตะกรุดคู่ สีเนื้อของตะกรุดขององค์นี้จะออกสีดำด้าน ตะกรุดเงินแปะตั้ง เวลาเป็นสีดำ จะเป็นสีดำด้านเท่านั้น ถ้ามองผ่านกล้อง มีโอกาสสูงที่จะเห็นเนื้อแท้ของเงินแปะตั้ง ที่ดูเหมือนมีสีออกเหลืองเคลือบอยู่
พระปิดตา เงินล้าน เนื้อใบลาน ตะกรุดคู่ - ตะกรุดคู่นี้ดูง่ายมาก เพราะสีของตะกรุดยังคงสภาพสีของเงินแปะตั้งอยู่ สีจะออกคล้ายสีทองด้านๆ ไม่มันเงา
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อเกสร - ตะกรุดดอกนี้ ออกสีดำด้าน
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน - ตะกรุดดอกนี้ เราสามารถเห็นสีของเงินแปะตั้งได้
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อผงธูป - ตะกรุดดอกนี้ เราสามารถเห็นสีของเงินแปะตั้งได้ ตะกรุดไม่ได้มีลักษณะที่ถูกบี้แบน เพราะว่าตอนกดเนื้อผงธูป บล็อกแม่พิมพ์ยังไม่หลวม แรงอัดยังลงไปได้ไม่มากตอนกดกระแทก เลยทำให้ตะกรุดดูคล้ายๆเป็นการสอดเข้าไป แต่เป็นการวางและกดกระแทก เราสามารถดูประกอบกับร่องน้ำด้านหลังได้ ถ้าร่องน้ำข้างหลังยิ่งกว้าง แรงกดกระแทกก็จะเยอะขึ้นตามขนาดของร่องน้ำ ซึ่งเกิดจากบล็อกแม่พิมพ์ที่เริ่มหลวม เท่าที่เห็นตะกรุดที่มี
ลักษณะแบบนี้ มีแต่ในเนื้อผงธูปเท่านั้น
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน แช่น้ำมนต์ - ตะกรุดดอกนี้ มีคราบน้ำมนต์ปรกคลุมอยู่ แต่เรายังเห็นสีของเงินแปะตั้งที่ออกเป็นสีดำด้าน
พระปิดตา เงินล้าน เนื้อเกสร - ตะกรุดดอกนี้ มีสีออกดำด้าน
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน - องค์นี้เก็บรักษาดีมาก ไม่โดนความร้อนสูงเกินไป ตะกรุดจะออกสีขาวๆคล้ายเงินแท้ๆ เมื่อมองด้วยตาเปล่า
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน - องค์เดียวกันกับรูปก่อนหน้านี้ แต่มองผ่านกล้อง หรือขยายเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นสีเนื้อแท้ของเงินแปะตั้ง ที่มีสีออกทองบางๆ
พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน - องค์นี้ตะกรุดเคลื่อนไปออกตรงขอบด้านล่าง
พระปิดตา เงินล้าน เนื้อใบลาน - องค์นี้ตะกรุดเคลื่อนไปออกตรงแข้งซ้ายขององค์พระ
พระปิดตา เงินล้าน เนื้อใบลาน - องค์นี้ตะกรุดเคลื่อนไปที่ปลายเท้าซ้ายขององค์พระ
टिप्पणियां