
เรามาเพิ่มความรู้ในการออกให้บูชาพระเครื่องและการเงินของทางวัดในยุคนั้นกันดีกว่าครับ แต่ครั้งนี้เราจะไม่แค่มองในมุมมองทั่วๆไปเท่านั้น แต่เราจะต้องมองในมุมมองที่ลึกลงไปในรายละเอียด เพื่อที่เราจะเข้าใจเหตุการณ์ในขณะนั้นได้ดีขึ้นครับ
วันนี้เรามาสวมรอยเป็นนักบัญชีกันดีกว่าครับ
ช่วงเวลาที่กล่าวถึงเรื่องการเงินของทางวัดมากที่สุด ก่อนหลวงปู่มรณภาพ ก็ต้องเป็นช่วงระยะเวลาที่ให้บูชา พระปิดตา เงินล้านครับ
แต่ก่อนที่จะเข้าไปอ่านบทความ ผมขอกล่าวว่าผมเขียนในมุมมองของนักบัญชี ที่มีข้อมูลที่จำกัดมากๆ และ จากคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่า ทำไมพระปิดตา เงินล้าน ถึงได้ถูกเรียกชื่อนี้ ผมไม่ได้มีเจตนาลบหลู่หรือเข้าไปตรวจสอบการเงินของทางวัดแต่อย่างใด แล้วก็เหมือนเดิมครับ ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวครับ ส่วนประโยชน์ขอยกให้ครูและอาจารย์ที่เคารพด้วยครับ
เรามาเพิ่มความรู้พร้อมกับชมพระปิดตา เงินล้าน ไปพร้อมๆกันเลยครับ
พระปิดตา เงินล้าน มีอยู่ด้วยกันสองเนื้อ คือเนื้อใบลาน กับ เนื้อเกสร จัดสร้างและปลุกเสกหนึ่งไตรมาส เมื่อปี 2521
เนื้อใบลานมีทั้งตะกรุดเดี่ยวกับตะกรุดคู่ และยังมีพิมพ์กรรมการที่มีตะกรุดถึงสามดอก ส่วนเนื้อเกสร หนังสือบางเล่ม บันทึกว่ามีแค่ตะกรุดเดี่ยว บางเล่ม บันทึกว่ามีทั้งตะกรุดเดี่ยวและตะกรุดคู่ หนังสือที่ออกโดยวัดประดู่ฉิมพลีบันทึกว่ามีแค่ตะกรุดเดี่ยว
ตรงนี้ขอใช้ข้อมูลจากทางวัดเป็นหลัก เพื่อใช้ในการคำนวณครับ
พระปิดตา เงินล้าน ทั้งใบลาน และ เกสร ไม่ได้อยู่ในรายการ ของ “รายการพระเครื่อง วัตถุมงคล” ในใบปลิว (โบชัวร์) “ขอเชิญชมวัตถุมงคล” (ปี 2524 หลังหลวงปู่ มรณภาพ)
แสดงว่า พระปิดตา เงินล้าน ใบลาน และ เกสร ได้ให้บูชาหมดจากวัดไปแล้วก่อนปี 2524 แล้ว ราคาการให้บูชาตะกรุดเดี่ยวน่าจะเป็นราคา 50 บาทเท่ากับพระปิดตารุ่นอื่นๆ ที่ขนาดเท่าๆกัน ที่ยังมีเหลือให้บูชาเมื่อปี 2524 ส่วนตะกรุดสองดอกน่าจะให้บูชาในราคา 300 บาท เพราะอะไรที่พิเศษขึ้นมา ทางวัดจะชอบตั้งราคาไว้ที่ 300 บาท เรื่องราคาไม่สามารถยืนยันได้ เพราะว่าไม่เคยเห็นเอกสารบันทึกเรื่องราคา ทำได้แค่เพียงคาดเดาเท่านั้น
เมื่อปี 2521 เนื้อใบลาน กับเนื้อเกสรไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่ากันมากมาย ส่วนใหญ่จะดูที่ว่ามีตะกรุดกี่ดอก และจำนวนการสร้างเป็นหลัก ทั้งสองเนื้อไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากมาย เพราะฉะนั้นราคาก็น่าจะเท่ากัน
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าทางวัดได้มียอดรวมของเงินทำบุญทั้งหมดมากกว่าหนึ่งล้านบาท ช่วงเวลาที่ให้บูชาพระปิดตา เงินล้าน
ซึ่งทางวัดน่าจะมียอดรวมเงินทำบุญก่อนหน้านี้ น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทเยอะพอสมควร และคงไม่ใช่แค่หลักแสนหรือสองแสนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็คงไม่เป็นสาระสำคัญที่เอามาเรียกพระปิดตา เงินล้าน ได้ แล้วมีความน่าจะเป็นสูง ที่พระปิดตา เงินล้าน ทุกเนื้อ มีคนบูชาหมดด้วยความรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นคงไม่มีพระปิดตา กนกข้าง กับ นะทะนะ ออกให้บูชาในปี 2522
สาเหตุที่มีคนมาบูชาเยอะ เพราะพระปิดตาจัมโบ้ 1 ได้รับความนิยมสูงมากเมื่อปี 2520 หลายท่านก็รอพระเครื่องรุ่นถัดมาในราคาที่ออกจากวัด ตรงนี้วิเคราะห์ได้ไม่ยาก เพราะอยู่ในแบบเรียนวิชาการตลาดทั่วไป ส่วนราคาที่ให้บูชานอกวัดก็จะต้องสูงขึ้น แต่ไม่สามารถสูงเท่า พระปิดตา จัมโบ้ 1 ได้ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
ที่นี้เรามาดูยอดบูชาคราวๆจากราคาให้บูชาข้างต้นกัน

ใบลานตะกรุดเดี่ยว 3,091 องค์ ใบลานตะกรุดคู่ 548 องค์ เนื้อเกสรตะกรุดเดี่ยว 4,480 องค์
3,091 x 50 = 154,550.00 บาท 548 x 300 = 164,400.00 บาท 4,480 x 50 = 224,000.00 บาท
ยอดรวม 542,950.00 บาท
จากยอดรวมให้บูชาพระปิดตา เงินล้าน เป็นเงินที่มากกว่าครึ่งล้าน และจากการคำนวณคราวๆ ยอดบูชาของพระปิดตามหาเสน่ห์ ปี 2518, สมเด็จปรกโพธิ์ ปี 2518, สมเด็จเยือนอินเดีย ปี 2519, ปิดตา จัมโบ้ 1 ปี 2520 และ วัตถุมงคลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ น่าจะอยู่ราวๆ หกแสนถึงเจ็ดแสนบาท โดยประมาณ
ถ้าจะเปรียบเทียบกับราคาทองหนึ่งบาท ถัวเฉลี่ยเมื่อปี 2522 เท่ากับ 3,063 บาท เงินหนึ่งแสนบาทสามารถซื้อทองได้ 32.65 บาทโดยประมาณ หรือ น้ำหนักทอง เกือบๆ ครึ่งกิโลกรัม
จากตัวเลขที่คำนวณ และจากยอดคาดเดาเงินทำบุญก่อนหน้านี้ ที่ยังขาดราวๆ สามถึงสี่แสนบาท และระยะเวลาที่พระเครื่องพิมพ์นี้หมดจากการให้บูชา แล้วทำให้ยอดเงินบูชามากกว่าหนึ่งล้านได้ เรียกว่าสร้างความฮือฮาได้มากอย่างแน่นอน สมแล้วที่รุ่นนี้ได้ชื่อว่า “พระปิดตา เงินล้าน”
Comments