บางเรื่องที่เล่าต่อๆกันมาจนเราคิดว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ เรามาดูกันครับว่าเรื่องอะไร
อาทิตย์ก่อนหน้านี้ ผมเอาพระประจำวันเกิด เนื้อใบลาน มาศึกษาเนื้อเทียบกับพระปิดตา จัมโบ้ 1 เนื้อใบลาน ที่ทั้งสองพิมพ์ใช้มวลสารเดียวกัน แล้วเกิดความสงสัยว่าหลวงปู่เกิดวันพฤหัสบดีจริงๆหรือ


รายละเอียดของพระประจำวันเกิด จากหนังสือ และเว็บไซต์ ให้ข้อมูลเหมือนๆกัน
พระประจำวันเกิดหลวงปู่โต๊ะ สร้างปี 2520 “พระพิมพ์นี้สร้างขึ้นมาจากความคิดที่ว่า หลวงปู่ได้เดินทางไปเยือนประเทศอินเดีย ได้นั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา จึงได้สร้างพระประจำวันเกิดของหลวงปู่ขึ้น คือวันพฤหัสบดี (พระปางสมาธิ) ที่มีรูปแบบเป็นใบโพธิ์ จำนวนสร้าง 10,412 องค์ มีทั้งเนื้อผงเกสรและเนื้อผงใบลาน พระพิมพ์นี้หลวงปู่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อแจกโดยเฉพาะ มิได้ให้มีการเช่าบูชาแต่ประการใด”
ข้อมูลข้างต้นนี้บอกไว้ชัดเจนว่า หลวงปู่ท่านเกิดวันพฤหัสบดี
หลวงปู่โต๊ะท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2430 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์
วันที่ : 27 ( อาทิตย์ ) ขึ้น 4 ค่ำ เดือน : มีนาคม ( เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ) พุทธศักราช : 2430 ( ปีกุน ) คริสตศักราช : 1887 ราศี : มีน
แล้วยังมีข้อมูลจากคนใกล้ชิดหลวงปู่ได้ให้ข้อมูลว่า หลวงปู่ท่านเกิดวันอังคาร
(แซวนิดนึงนะครับ หลวงปู่ท่านจะเกิดสามวันไม่ได้)
ในเมื่อข้อมูลไม่ตรงกัน เราควรหาหลักฐานอ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้อง
หลักฐานที่นำมาใช้อ้างอิงอย่างแรกคือ ฉายาพระ
การตั้งฉายาพระ เราไม่สามารถนึกอยากจะเอาชื่อนั้นชื่อนี้มาใช้สุ่มสี่สุ่มห้าได้ จะต้องตั้งด้วยอักษรนำหน้าตามวันเกิด เท่านั้น แล้วต้องเป็นวันที่เกิดจริงเท่านั้น คนสมัยก่อนถือมาก (สมัยปัจจุบัน ได้ยินมาว่าจะตั้งอะไรก็ได้ ไม่ถือเอาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ)
ตัวอักษรนำที่จะต้องใช้ในการตั้งฉายาพระ วันอาทิตย์: อ, อา, อิ, อุ, โอ, อํ วันจันทร์: ก, ข, ค, ฆ วันอังคาร: จ, ฉ, ช, ฌ, ญ วันพุธกลางวัน: ฐ วันพุธกลางคืน: ย, ร, ล, ว วันพฤหัสบดี: ป, ผ, พ, ภ, ม วันศุกร์: ส, ห วันเสาร์: ต, ถ, ท, ธ, น
จากตัวอักษรนำฉายาพระ ทำให้เรายืนยันได้ว่า หลวงปู่โต๊ะต้องเกิดวันอาทิตย์เท่านั้น เพราะฉายาท่าน “อินฺทสุวณฺโณ” มีอักษร “อิ” นำหน้า
หลักฐานที่นำมาใช้อ้างอิงอย่างที่สองคือ กระดาษที่หลวงปู่เขียนบันทึกเรื่องวันเกิดด้วยตัวของหลวงปู่เอง

สามารถแกะลายมือของหลวงปู่ได้ดังนี้
บิดานายลอย มารดานางทับ
โต๊ะ รัตนคอน
๑ ๔ ๕
ปีกุน
๒๗ มีนาคม ๒๔๓๐
อำเภอ บางคนที
ตำบล บางพรห
จังหวัด สมุทรสงคราม
พระครูวิริยกิตติ
* หลวงปู่ท่านได้บันทึกไว้ในช่วงที่มีสมณศักดิ์เป็นพระครูวิริยกิตติ (2463 - 2516)
ตัวเลข 145 คือ 1 = วันอาทิตย์ 4 = ขึ้น 4 ค่ำ 5 = เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ
ทำไมถึงต้องใช้สองอย่างนี้มาเป็นหลักฐานในการอ้างอิง แค่อย่างใดอย่างนึงก็เพียงพอแล้ว ก็เพราะว่า หลักฐานทั้งสองอย่างนี้ สนับสนุนกันเองโดยไม่ต้องอธิบาย
สรุปคือหลวงปู่เกิดวันอาทิตย์ ไม่ใช่วันพฤหัสบดี หรือวันอังคาร
ฉายาของหลวงปู่ “อินฺทสุวณฺโณ” มีความหมายว่า ผู้มีผิวกายดุจพระอินทร์
ที่นี้เรามาวิเคราะห์กันว่าทำไมพระปางสมาธิหลังใบโพธิ์ กลายเป็นพระประจำวันเกิด (ของหลวงปู่) ได้
สิ่งแรกที่เราต้องนำมาใช้ในการวิเคราะห์คือ การสื่อสารสมัยนั้น เป็นการบอกปากต่อปาก
สิ่งที่สอง ขนาดพระเครื่องที่นำออกให้บูชาและมีการบันทึกชื่อ ชื่อยังเปลี่ยนไปตามคนนิยมเรียกได้ แล้วพระชุดนี้เป็นพระแจก ไม่มีการบันทึกข้อมูล ก็ต้องมีการเรียกชื่อเพื่อการสื่อสารอย่างแน่นอน
ตามลักษณะนิสัยของหลวงปู่ ผมไม่เชื่อว่าหลวงปู่ยอมให้จัดสร้างพระประจำวันเกิดของตัวท่านเอง ถ้าท่านจะทำพระประจำวันเกิด หลวงปู่จะต้องให้ทำพระประจำวันเกิดของทุกวัน จะไม่มีการสร้างแค่วันเดียว
ท่านแค่ต้องการให้ลูกศิษย์และญาติโยมระลึกถึง เจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงประทับขัดสมาธิ ที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ และได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนหลวงปู่ที่ได้มีโอกาสนั่งสมาธิเหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงประทับขัดสมาธิ ใต้ต้นมหาโพธิ์
แต่ด้วยความบังเอิญที่ พระปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้เป็นพระประจำวันเกิดวันพฤหัสบดี คนเลยเรียกพระประจำวันเกิด แล้วจะเป็นวันเกิดใครไม่ได้ ก็ต้องเป็นวันเกิดของหลวงปู่
บางทีการเข้าถึงข้อมูลที่ลำบาก และการสื่อสารแบบปากต่อปาก ก็จะได้เห็นได้ฟังข้อมูลอย่างที่เห็นในกรณีนี้
การที่เราจะเปลี่ยนความเชื่อที่เราเชื่อกันมาเป็นสิบๆปี ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นในอีกมุมมองที่ใช้หลักฐานมาสนับสนุนข้อมูล ถ้าเราใช้ความเชื่อที่บอกต่อๆกันมาโดยไม่มีการอ้างอิงกับหลักฐานที่ปรากฏ อีกหน่อยก็จะกลายเป็นตำนานที่จับต้องไม่ได้
댓글