top of page

เนื้อหา มวลสาร ในพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ

รูปภาพนักเขียน: กรณ์ บูลากอนกรณ์ บูลากอน

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้พี่ๆน้องๆเข้าใจในเนื้อหามวลสาร ในพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ มากขึ้น

แล้วเม็ดเล็กๆสีดำๆที่เราเห็นกระจายอยู่ทั่วองค์พระในเนื้อเกสรคืออะไร ทำไมต้องมี มีเพื่อจุดประสงค์อะไร บทความนี้จะให้คำตอบครับ


บทความนี้จะไม่เน้นอธิบายถึงด้านพุทธคุณของแต่ละเนื้อ ไม่เช่นนั้นจะยาวเกินไปครับ


ก่อนอื่นใด เรามาทำความเข้าใจถึงวิธีการได้มาของทั้งสามเนื้อกันก่อน


พระเนื้อผงของหลวงปู่ จะมีด้วยกันสามเนื้อหลักๆ คือ เนื้อผงธูป, เนื้อเกสร, และ เนื้อใบลาน (เนื้อดิน กับ เนื้อสิบสามพิมพ์หลัก จะไม่พูดถึงในบทความนี้)


** แทรกนิดนึง ที่เราเรียกกันว่าเนื้อผงธูป เพราะว่า ผงธูปคือเราเอาผงจากขี้เถ้าของธูปเลย ไม่เหมือนกับ เนื้อเกสร กับเนื้อใบลาน ที่เราต้องเอามาบดเป็นผงก่อน


ก่อนที่จะนำมวลสารทั้งสามเนื้อมาผสมกับมวลสารหลัก จะต้องมีการทำให้เป็นผงหรือมีลักษณะเป็นผงอยู่แล้ว เรียกว่า ผงธูป ผงเกสร และ ผงใบลาน


ผงธูป กับ ผงเกสร เราพอเข้าใจแล้วว่า มาจากไหนทำยังไงให้เป็นผง แต่ผงใบลาน ไม่ใช่แค่เอาใบของต้นลาน มาเผา มาบด มาตำ เพราะใบลานอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งของที่มีพุทธคุณในตัวเอง


ผงธูป ได้มาจากผงขี้เถ้าจากธูปที่อยู่ในกระถางธูป คงต้องมีการเก็บรักษาไว้สักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ได้ปริมาณมากพอที่จะเอามาผสมกับ มวลสารหลัก


ผงเกสร ได้มาจากดอกไม้ที่ญาติโยมนำมากราบไหว้บูชาพระพุทธรูปที่วัด เอาส่วนที่เป็นดอกเท่านั้น พวกก้านและใบจะไม่นำมาใช้ เอาไปตากให้แห้ง แล้วนำมาบดให้ละเอียด สีก็จะออกสีน้ำตาลแห้งๆ ไม่ได้ขาวซะทีเดียว เนื่องจากมีดอกไม้หลายชนิด


ผงใบลาน ได้มาจากคำภีร์ หรือบทสวดใบลานเก่าๆ ที่ชำรุดเสียหายแล้ว ซึ่งแทนที่จะเอาไปทิ้งให้เปล่าประโยชน์ สู้เอามาทำเป็นผงพุทธคุณดีกว่า


การที่จะทำให้เป็นผงใบลาน จะนำคำภีร์ หรือบทสวดใบลานที่กล่าวถึงข้างต้น ไปสุมไฟเผา จนเป็นขี้เถ้าสีออกดำๆ ผงขี้เถ้านี้แหละที่เรียกว่า ผงใบลาน


เราเคยได้ยินคำว่าใบลานมามากพอสมควร แต่น้อยคนนักจะรู้จัก ต้นลาน

ต้นลานเป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่ง ในสมัยก่อน นิยมเอาใบของต้นลานไปใช้จารึกตัวอักษรเพื่อบันทึกคำสอนของพุทธศาสนา รวมถึง พระคำภีร์ และบทสวดมนต์ โดยใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานจากนั้นใช้ยางรักทา ยางรักจะแทรกอยู่ในตัวหนังสือ ทำให้มองเป็นสีดำ สามารถอ่านเป็นตัวหนังสือได้







หน้าตาของสมุดใบลาน ให้เรานึกถึง แผ่นพับที่เป็นบทสวดมนต์แบบแนวขวาง แล้วอ่านโดยใช้วิธีพลิกไปข้างหน้า ถือได้ง่ายเมื่อต้องพนมมือขณะสวด แต่สมุดใบลานจะใช้วิธีเจาะรูแล้วเอาเชือกร้อยไว้





ผงใบลานก็ถือได้ว่ามีพุทธคุณสูง เพราะมีทั้งบทสวด แม้กระทั่งพระไตรปิฏก พระสงฆ์ใช้สวดแรมเดือนแรมปี กว่าจะแตกหักเสียหาย แล้วจึงนำมาเผา


ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ผงธูป ผงเกสร และ ผงใบลาน ได้มายังไง แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาผงทั้งสามชนิดนี้มาผสมน้ำมันตังอิ้วแล้วนำไปกดพิมพ์พระเครื่อง เพราะผงเหล่านี้ไม่สามารถเกาะตัวได้เอง ต้องมีมวลสารที่สามารถทำให้มวลสารทั้งหมดเกาะติดด้วยกันได้


ที่นี้เรามาดู มวลสารหลักที่ใช้ในการสร้างพระกัน


มวลสารหลักที่ใช้ในการสร้างพระเครื่องของวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น เป็นสูตรที่ได้มาจากวัดใหม่อมตรส ซึ่งประกอบด้วย


- ปูนเปลือกหอย - น้ำปูนซีเมนต์ขาว - น้ำตาลปีป (ใช้แทนน้ำอ้อย) - กะลามะพร้าวเผาดำ - น้ำมันตังอิ้ว


เมื่อได้มวลสารหลักแล้ว ก็จะใส่ผงที่ทำไว้ข้างต้นลงไปเพื่อกดพิมพ์พระแต่ละเนื้อดังนี้


มวลสารหลัก + ผงธูป = เนื้อผงธูป มวลสารหลัก + ผงเกสร = เนื้อเกสร มวลสารหลัก + ผงใบลาน = เนื้อใบลาน


ปูนเปลือกหอย, น้ำปูนซีเมนต์ขาว, น้ำตาลปีป, และน้ำมันตังอิ้ว เราพอรู้แล้วว่าทำให้มวลสารเกาะติดแน่น ไม่ขยายตัว และไม่หดตัว ส่วนกะลามะพร้าวเผาดำ ใส่ไปเพื่อช่วยทำให้เกิดความมันเงา เนื่องจากกะลามะพร้าวเผาตำละเอียดจะมีน้ำมันคลายตัวออกมา



ถ้าเราส่องด้วยกล้อง เรายังสามารถเห็นผงกะลามะพร้าวเป็นเม็ดเล็กๆสีดำๆกระจายอยู่ทั่วไป ในเนื้อผงเกสรจะเห็นได้ชัดเจน แต่เราแทบจะมองไม่เห็นในเนื้อใบลาน กับ เนื้อผงธูป เพราะว่าผงกะลาเผามีสีดำ ซึ่งใกล้เคียงกับสีของผงใบลาน กับ ผงธูป

พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อผงธูป - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ตรงต้นแขนซ้าย






พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อเกสร - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ตรงใกล้ข้อพับของแขนขวา






พระปิดตา จัมโบ้ 2 เนื้อใบลาน - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ตรงใกล้ข้อมือของแขนขวา






พระปิดตา ปลดหนี้ เนื้อเกสร - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ใกล้จุดไข่ปลาด้านบนซ้ายของเรา






พระปิดตา เงินล้าน เนื้อใบลาน ตะกรุดคู่ - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ตรงต้นแขนซ้าย






พระปิดตา เงินล้าน เนื้อเกสร - ผงกะลามะพร้าวเผา อยู่ตรงต้นแขนขวา







หลายคนเคยสันนิษฐานว่า เม็ดเล็กๆสีดำๆเหล่านี้ เป็นเมล็ดกล้วยน้ำว้าสุก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถเป็นไปได้เลย เพราะว่า มวลสารในสูตรที่ใช้สร้างพระเครื่องที่วัดประดู่ฉิมพลี ไม่ได้มีการใส่กล้วยน้ำว้าสุกแต่อย่างใด





การกดพิมพ์พระ บทความก่อนหน้านี้ได้อธิบายถึงวิธีการกดพิมพ์พระเครื่องที่วัดประดู่ฉิมพลี แต่เรายังไม่ได้ลงไปในรายละเอียดที่มีผลกับสีและรูปลักษณ์ภายนอกขององค์พระ


การกดพิมพ์พระเครื่อง ก่อนกดพิมพ์พระ จะมีการทาน้ำมัน แล้วตามด้วยแป้งมัน ที่บล็อกพิมพ์ ถ้ามีการโรยแป้งมากไป พระองค์นั้น จะมีลักษณะคล้ายผงสีขาวๆ คลุมอยู่ทั่วด้านหน้าองค์พระ ที่เราเรียกว่าคราบแป้ง


สำหรับเนื้อใบลานที่มีคราบแป้งหนาๆ ถ้ามองไกลๆ อาจจะดูขาวๆนวลคล้ายกับเนื้อเกสรได้ แต่ถ้าเราพิจารณาโดยละเอียดโดยการพลิกหน้าและหลัง เราสามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นเนื้อใบลานที่มีคราบแป้งปกคลุมอยู่


เช่นเดียวกับเนื้อใบลานที่แช่น้ำมนต์ ถ้าเราพิจารณาดีๆ จะเห็นได้ว่าเป็นเนื้อใบลานที่ถูกปกคลุมด้วยคราบน้ำมนต์ จะหนาหรือบาง ยังไงก็ดูออกได้


บทความนี้ยาวพอควร หวังว่าพี่ๆน้องๆจะเข้าใจในเนื้อหามวลสารมากขึ้น เพื่อใช้ในการพิจารณาพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ

 
 
 

Comments


  • Instagram
  • Facebook

Instragram: inthasuwanno

Facebook: Inthasuwanno

240170992_110095101397909_3989983082204586790_n.jpg

© 2000 - 2024

bottom of page