พิมพ์เดียวกันเนื้อเดียวกันแต่มีหลายสี นี่คือเสน่ห์ของพระเครื่องหลวงปู่โต๊ะ
หลายท่านสงสัยว่าพระเครื่องของหลวงปู่ทำไมถึงมีหลายโทนสีในเนื้อเดียวกัน ทั้งที่จัดสร้างในคราวเดียวกัน
อย่างแรกที่ต้องรู้คือ เวลาตำผสมมวลสารจะทำเป็นครกๆไป ไม่ได้มีการผสมทั้งหมดในเวลาเดียวกัน สีขององค์พระจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของมวลสารที่ใส่ลงแต่ละครก มากบ้างน้อยบ้าง แล้วมีการใส่น้ำมันตังอิ้วลงไปในแต่ละครก เพื่อให้มวลสารประสานเข้าด้วยกัน ถ้าใส่เยอะหน่อยก็จะมันและชุ่มมากหน่อย ให้นึกถึงดินหรือผงเวลาแห้งกับเวลาเปียกน้ำ สีของดินหรือผงก็จะเข้มขึ้น น้ำมันตังอิ้วจะคงความมันและความเข้มของสีไว้แม้นจะแห้งลงก็ตาม
อย่างที่สองคือ อุณหภูมิในขณะเก็บรักษาซึ่งมีผลกับการลอยตัวของน้ำมันตังอิ้ว หรือที่เรียกกันว่าตังอิ้วประทุ
อย่างที่สามคือ การนำไปแช่น้ำมนต์
สามอย่างนี้ ทำให้เกิดหลายโซนในเนื้อเดียวกัน แต่เมื่อมีหลายโซน อีกสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ค่านิยมในโซนนี้มีมากกว่าในโซนนั้น
ยกตัวอย่างในกรณีของจัมโบ้ 2 ใบลาน ซึ่งมีโซนหลักๆคือ แช่น้ำมนต์กับไม่แช่น้ำมนต์
แช่น้ำมนต์

พระจะมีลักษณะขาวนวลออกเหลืองนิดๆ เนื่องจากแช่อยู่ในตุ่มน้ำมนต์เป็นเดือนๆปีๆ แต่ยังสามารถเห็นสีของเนื้อใบลานภายใต้คราบน้ำมนต์
ไม่แช่น้ำมนต์

ในโซนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นโซนย่อยๆได้อีกหลายโซน เช่น ตังอิ้วหน้าแดง ตังอิ้วลายเสือ ดำ เทา น้ำตาล ลายเสือ หินครกหรือก้นครก
ตังอิ้วหน้าแดง ตังอิ้วลายเสือ

รวมๆเรียกว่าโซนตังอิ้ว ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะด้านหน้า ที่เป็นลักษณะฉ่ำๆ เงาๆ มันๆ ส่วนด้านหลังจะเป็นลักษณะแห้งๆ ด้านๆ เนื่องจากเวลาเก็บพระ คนส่วนใหญ่วางเอาด้านหน้าขององค์พระขึ้น เมื่อโดนความร้อนน้ำมันตังอิ้วก็ลอยตัวขึ้นมา นานวันเข้าความร้อนก็ยิ่งทำให้น้ำมันตังอิ้วไหลเยิ้มออกมาทางด้านหน้าขององค์พระ บางองค์ออกสีแดง ถ้าออกเหลืองผสมแดงก็จะเป็นคล้ายลายของเสือโคร่ง
ดำ

ส่วนใหญ่จะออกมันเงา มีส่วนของมวลสารที่ออกสีดำค่อนข้างมาก แน่นอนว่ามีส่วนผสมของน้ำมันตังอิ้วเยอะพอควร แต่ไม่เกิดการประทุ อาจจะด้วยการเก็บรักษาที่ไม่ได้โดนความร้อนมาก ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น ตังอิ้วหน้าแดง หรือตังอิ้วลายเสือไป
เทา

ส่วนใหญ่จะดูแห้งๆ ไม่มันเงาเท่าโซนอื่นๆ น่าจะมีการใส่น้ำมันตังอิ้วไม่มากเท่าตังอิ้วหน้าแดง ตังอิ้วลายเสือ หรือดำ หรือด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้ไม่มีการประทุของน้ำมันตังอิ้ว
หินครกหรือก้นครก
คือโทนสีที่ออกไปทางเนื้อผงธูป เหมือนกับว่าเป็นเนื้อที่มีส่วนผสมของน้ำมันตังอิ้วน้อยที่สุด เลยมีลักษณะแห้งลงคล้ายสีของผงธูป
ลายเสือ

ที่เกิดจากการพรมน้ำมนต์โดนพระเครื่อง ทำให้เกิดเป็นลายที่ดูแห้งๆ แต่ไม่มีคราบน้ำมนต์เหมือนโซนแช่น้ำมนต์
Comments