เรื่องบล็อกเป็นอีกหนึ่งคำถามที่มี พี่ๆน้องๆถามเข้ามาเยอะมาก ผมเลยขออธิบายเรื่องการแยกบล็อกในพระเครื่องที่เราได้ยินอยู่เป็นประจำครับ
ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆมีอยู่ห้าบล็อก 1. บล็อกผงธูป ของพระปิดตา ยันต์ดวงเล็ก 2. บล็อกแรก ของพระปิดตา ปลดหนี้ หลังยันต์นะ 3. บล็อกสายฝน ของพระปิดตา เงินล้าน 4. บล็อกหัวมนกับหัวแหลมของพระปิดตา จัมโบ้ 1
* ขอรวมบล็อกหัวมนกับหัวแหลมอยู่ในข้อเดียวกันครับ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่อง แม่แบบ หรือแม่พิมพ์ในการกดพิมพ์พระกันก่อน
แม่แบบ หรือ แม่พิมพ์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Mold หรือ Block ใช่ครับเราเรียกทับศัพท์ว่า บล็อก แล้วบางที่เราก็เรียกรวมกันไปเลยว่า บล็อกแม่แบบ หรือบล็อกแม่พิมพ์
ที่นี้ตอนกดพิมพ์พระเครื่องแล้วมีตำหนิหรือจุดเด่นแตกต่างกัน จากการที่มีหลายบล็อก หรือมีแค่บล็อกเดียว แต่ด้วยการกดพิมพ์ไปนานๆ จนกระทั่ง เส้นสายบนตัวองค์พระได้มีลักษณะแตกต่างกันออกไปจนเห็นได้ชัด วงการพระเครื่องจะแยก พระพิมพ์เดียวกัน แต่ที่มีลายเส้นสายต่างกันนี้ ออกเป็นบล็อกๆไป ซึ่งเราเรียกตามลักษณะแม่พิมพ์ในขณะที่กดพิมพ์พระเครื่ององค์นั้นๆ
พระผงแต่ละพิมพ์ของหลวงปู่มีการใช้แม่พิมพ์เพียงแค่ชุดเดียว เครื่องกดที่ใช้จะมีลักษณะเป็นคันโยกจากบนลงล่าง มีบล็อกสำหรับด้านหน้าอยู่ข้างล่าง และมีบล็อกสำหรับด้านหลังอยู่ข้างบน บล็อกเป็นเหล็กแกะลึกโดยการขุด, เจาะ, ขูด, และแซะ ลงไปให้เป็นรูปทรง ถ้าทำพลาดก็ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือด้วยความจงใจ ตรงนั้นก็เป็นจุดเด่นในองค์พระ
พระเครื่องของหลวงปู่ได้ถูกแกะบล็อกด้วยความประณีตมาก ทำให้มีพุทธศิลป์ที่สวยงาม และมีรายละเอียดมากทุกๆพิมพ์
เมื่อกดพิมพ์พระชุดแรกๆ จะได้ลายเส้นที่คมชัดมาก พอกดไปนานเข้า มวลสารก็เข้าไปอุดตามร่องลายเส้นที่มีอยู่ ทำให้ลายเส้นที่เคยมีบนองค์พระไม่สามารถมีได้
เรามาดูรายละเอียดแต่ละบล็อกกันครับ
พระปิดตา ยันต์ดวงเล็ก บล็อกผงธูป


ในเนื้อผงธูป พระหลายๆองค์จะมีเส้นเล็กๆและสั้นมากๆ สองเส้นอยู่ตรงด้านบนของใบหูด้านขวาขององค์พระ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมี เพราะเนื้อผงธูปหลายๆองค์ก็ไม่มีหรือมีแบบลางๆ
ในองค์ที่คมชัดมากๆ จะมีเส้นอีกหนึ่งเส้นอยู่ตรงด้านบนของใบหูด้านซ้ายขององค์พระ
ซึ่งเราพอทราบแล้วว่า เนื้อผงธูปได้มีการกดพิมพ์ก่อนเนื้อใบลาน (เพราะมีจำนวนการสร้างน้อยกว่า และจากการวิเคราะห์การเกิดร่องน้ำข้างล่างด้านหลังขององค์พระ)
ในเนื้อใบลาน มีบางองค์ก็มีเส้นสองเส้นนี้ ทำให้ดูเด่นกว่า แต่ก็มีคำถามอีกว่า แล้วมีสองเส้นนี้ได้ยังไง ในเมื่อเนื้อผงธูปบางองค์ยังไม่มี
ตรงนี้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า รายละเอียดในบล็อกไม่ได้หายไปไหน จะหายไปตอนมีมวลสารไปอุดตันตรงรายละเอียดเท่านั้น ถ้ามีการล้างหรือปัดทำความสะอาด รายละเอียดตรงเส้นสองเส้นนี้ก็สามารถกลับมาได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทำความสะอาดบล็อก ก่อนที่จะกดพิมพ์เนื้อใบลาน สองเส้นนี้สามารถติดได้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่คมเท่ากับองค์ที่ติดชัดๆในเนื้อผงธูป
พระปิดตา ปลดหนี้ หลังยันต์นะ บล็อกแรก

จะมีเส้นสองเส้นตรงปลายนิ้วมือด้านขวาขององค์พระ ทแยงขึ้นไปข้างบนซ้ายของเรา มีชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง
การเรียกว่าบล็อกแรก อาจจะไม่ค่อยถูกนัก เพราะว่า ทุกครั้งที่มีการทำความสะอาดบล็อก เส้นสองเส้นนี้ก็สามารถกดติดได้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่คมชัดเท่าการกดชุดแรกๆ
เส้นสองเส้นนี้ นักสะสมให้ความสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าสภาพและความตึงของผิวขององค์พระ ถ้าผิวขององค์พระไม่รานและมีสองเส้นนี้ จะได้รับความนิยมสูงเป็นพิเศษ
พระปิดตา เงินล้าน บล็อกสายฝน

จะเห็นชัดสุดทางด้านขวามือขององค์พระ (บางองค์มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) เป็นลักษณะคล้ายๆสายฝน ที่เกิดจากการไม่ได้ขัดบล็อกให้เรียบ จะด้วยความบังเอิญหรือจงใจก็แล้วแต่ ก็ทำให้องค์พระแลดูมีมิติมากขึ้น แถมชื่อบล็อกสายฝน ทำให้เรารู้สึกถึงความชุมชื้น และความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
เราสามารถเห็นบล็อกสายฝนในเนื้อใบลานเยอะกว่าในเนื้อเกสร เพราะว่า เนื้อใบลานได้รับการกดพิมพ์ก่อน ซึ่งเส้นสายฝนบนตัวแม่พิมพ์ยังคมอยู่ ทำให้เส้นสายฝนติดได้ง่ายกว่า ส่วนเนื้อเกสร เส้นสายฝนบนตัวแม่พิมพ์เริ่มจางลง ทำให้เส้นสายฝนติดได้ยากกว่า ถึงแม้จะมีการทำความสะอาดแม่พิมพ์ก็ตาม
พระปิดตาจัมโบ้ 1 บล็อกหัวมน กับ บล็อกหัวแหลม

เมื่อก่อนจะมีการแยกบล็อกอย่างชัดเจน ว่าองค์ไหนคือบล็อกหัวมน องค์ไหนคือบล็อกหัวแหลม มีคนเล่าว่า พอกดพิมพ์พระไปได้สักระยะนึง แม่พิมพ์เกิดการชำรุด เลยต้องมีการแก้ไขแม่พิมพ์
เท่าที่เห็นมา จัมโบ้ 1 เนื้อเกสร มีแค่บล็อกหัวมน ส่วนเนื้อใบลาน มีทั้งบล็อกหัวมนและบล็อกหัวแหลม ตรงนี้เป็นอีกจุดนึง ที่ทำให้ค่านิยมของบล็อกหัวมนมีมากกว่าบล๊อกหัวแหลม
พอพระหายากขึ้น บล็อกหัวแหลมก็เป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ราคายังสู้บล็อกหัวมนไม่ได้ ซึ่งตอนนี้พระปิดตา จัมโบ้ 1 จะหามาบูชาสักองค์ยังหายากมาก จะเป็นบล็อกอะไรก็ได้ แต่ราคาก็ว่ากันอีกเรื่อง
กระซิบเบาๆ ที่บอกว่า จัมโบ้ 1 เนื้อสมเด็จ นั้นหมายถึงสมเด็จเยือนอินเดีย ไม่ใช่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เห็นเนื้อแตกลายงา มันๆ คล้ายๆพระสมเด็จวัดระฆังนะ คือทอดน้ำมันเยอะไปนิด
Comments