top of page

คราบแป้งบนพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะ

คุณ Kasidit ส่งข้อความมาถามว่า คราบเหลืองๆ ที่ติดอยู่รอบองค์พระ เกิดจากอะไร ผมเห็นว่ามีประโยชน์กับพี่ๆน้องๆ เลยขอนำคำถามนี้มาตอบ ตามวิธีและขั้นตอนในการกดพิมพ์พระในช่วงเวลานั้นครับ


ผมขอออกตัวก่อนครับ ว่าเป็นการตอบตามหลักวิทยาศาสตร์ตามขั้นตอนในการกดพิมพ์พระ เพราะฉะนั้นคำตอบอาจจะไม่ถูกใจหลายๆคน เนื่องจากได้ยินมาอีกแบบ คำตอบที่ให้เป็นแบบที่มีเหตุและผล สามารถอธิบายได้และเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน


อย่างแรกเราต้องเข้าใจขั้นตอนการกดพิมพ์ก่อน เพื่อที่จะรู้ว่ามวลสารอะไรอยู่ข้างในอะไรอยู่ข้างนอก


เรามาดูขั้นตอนในการกดพิมพ์แต่ละองค์กันครับ

  1. ทาน้ำมันลงบนแม่พิมพ์

  2. โรยแป้ง

  3. วางตะกรุด

  4. วางเนื้อมวลสารที่ปั้นเป็นลูกกลอน (กลมๆ)

  5. กดแม่พิมพ์

  6. ใช้นิ้วหยิบโดนการจับข้างๆ

  7. ตากให้แห้ง


ผมได้มีโอกาสสอบถามกับพระสงฆ์และฆารวาสที่เป็นคนกดพิมพ์ ทั้งหมดยืนยันว่าทาน้ำมันและโรยแป้งก่อนกดพิมพ์ทุกครั้ง ปริมาณน้ำมันและแป้ง ไม่ได้มีสูตรตายตัว มากบ้างน้อยบ้าง ที่สำคัญคือองค์พระจะต้องไม่ติดแม่พิมพ์ และสามารถหยิบออกมาจากแม่พิมพ์ได้ หลังจากการกดกระแทกขึ้นรูป


ถ้าเราส่องพระของหลวงปู่ จะเห็นคราบแป้งที่ไปเกาะติดตามซอก สีจะออกขาวๆเหลืองๆ แล้วแต่ปริมาณของแป้งกับน้ำมันที่ไปกระจุกอยู่ตรงที่นั่นๆ แต่ก็มีหลายๆองค์ที่แป้งกับน้ำมันเกาะอยู่ทั่วไปบนผิวองค์พระ




น้ำมันที่ใช้ เป็นน้ำมันที่ใช้ในการบริโภคแทบจะทุกชนิด ส่วนแป้งที่ใช้มีทั้งแป้งทาตัวไปยันแป้งมันที่ใช้บริโภค พอแป้งหมดก็ให้เด็กวิ่งไปซื้อตามร้านค้าทั่วไป ก็เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมลักษณะการเกาะของแป้งที่ผสมน้ำมันที่เห็นมันถึงได้ต่างกันได้มากขนาดนี้ แต่ก็เป็นลักษณะแป้งผสมน้ำมันอยู่ดี


แป้งบางชนิดจะไม่ค่อยเกาะตัวเป็นก้อน บางชนิดจะเกาะตัวและเหนียวมากคล้ายแป้งเปียก บางชนิดก็ละลายง่ายกว่าบางชนิด


น้ำมันที่ใช้ทาแม่พิมพ์ มีหลายสี ทั้งที่มีสีอ่อนๆไปจนสีเหลืองเข้มจนแทบออกสีส้ม


ถ้าแป้งเป็นชนิดที่ละลายได้ง่าย แต่ใส่ในปริมาณที่มากไป เวลาผสมกับน้ำมันที่เป็นสีอ่อนๆ ก็จะติดคลุมกระจายไปทั่วองค์พระ หรือที่เรียกกันว่าเสือขาว



ถ้าแป้งเป็นชนิดที่เกาะเป็นเหนียวๆก้อนๆ เวลาผสมกับน้ำมันที่สีค่อนข้างเข้ม ก็จะติดเป็นก้อนสีออกเหลืองหรือส้ม หรือที่เรียกกันว่าลายเสือ


ที่นี้เราต้องแยกให้ออกว่าแบบไหนคือคราบแป้ง แบบไหนคือคราบจากน้ำมันตังอิ้ว


ย้อนเพื่อความเข้าใจสักนิด น้ำมันตังอิ้วเป็นหนึ่งในส่วนผสมของมวลสาร ใส่ในครกและตำให้เป็นเนื้อเดียวกัน น้ำมันตังอิ้วช่วยไม่ให้เกิดการหดตัวของมวลสาร หรืออธิบายอีกแบบว่า น้ำมันตังอิ้วอยู่ในเนื้อมวลสารหรือมาจากข้างในองค์พระ ส่วนแป้งกับน้ำมันเป็นตัวช่วยไม่ให้มวลสารเกาะติดกับแม่พิมพ์ หรืออยู่ด้านนอกองค์พระ


ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นลายๆ ทั้งสีขาว สีเหลือง หรือสีส้ม เกิดจากคราบแป้งผสมน้ำมันทั้งหมด ส่วนสีแดงหรือใสๆมันๆ เป็นเหมือนน้ำยาเคลือบไว้ นั้นมาจากน้ำมันตังอิ้ว




ตอนที่ตำผสมมวลสาร มวลสารสามารถมีความชื้นได้ ซึ่งคือน้ำ น้ำมันจะลอยขึ้นเหนือน้ำ ในองค์ที่หลังแห้ง หน้าดูฉ่ำๆ จะเกิดขึ้นด้วยลักษณะนี้ แต่ถ้าไม่มีความชื้น น้ำมันจะไม่ลอยขึ้น ทำให้ดูฉ่ำๆทั้งหน้าและหลัง


แล้วน้ำมันตังอิ้วทำไมมีหลายสี ก็เพราะว่ามีการใช้น้ำมันตังอิ้วหลายเกรด ตอนใช้แรกๆทางวัดใช้น้ำมันตังอิ้วที่ค่อนข้างใส พอใช้ไปนานๆเข้า น้ำมันตังอิ้วที่ใช้อยู่หมด ได้ยินมาว่าหมดทุกร้าน เลยต้องยอมใช้น้ำมันตังอิ้วเก่าเก็บ บางขวดก็ตกตะกอน เป็นสีออกแดงเข้มเลยก็มี ทีนี้เราพอเดาออกใช่ไหมว่า องค์กวนอูหน้าแดงเกิดจากอะไร



ที่เห็นสีแตกต่างกันมากสุดๆเลยก็จัมโบ้ 2 เนื้อผงใบลาน  กับยันต์ดวงเล็ก เนื้อผงใบลาน ไม่ใช่เพราะความตั้งใจอย่างเดียวที่ทำให้เกิดหลายๆโซนสี แต่เป็นด้วยเพราะวัตถุดิบที่มี หรือองค์ประกอบของมวลสาร ในการกดพิมพ์พระแต่ละองค์พระ


ที่นี่เวลาส่องพระแต่ละองค์ เราสามารถจินตนาการได้ว่า ลายนี้สีนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครมีพระผงของหลวงปู่โต๊ะ ลองหยิบขึ้นมาส่อง แล้วลองมาเล่าให้เพื่อนๆฟังกันสิครับ ว่าเห็นอะไรบ้าง ส่องพระพร้อมความรู้ รับรองไม่มีเบื่อ


ต้องขอออกตัวอีกเรื่องว่า ผมไม่ได้มีเจตนาลบหลู่หรือด้อยค่าประการใด หากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยด้วยครับ






ดู 263 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page