เรามาหาคำตอบว่าทำไมพระปิดตา นะทะนะ ถึงได้ถูกเรียกว่า “นะทะนะ” กันดีกว่าครับ
เรามาลองย้อนเวลากลับไปปี 2522 แล้วคิดแบบคนสมัยนั้นกันครับ ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า การเข้าถึงข้อมูลไม่ได้รวดเร็วเหมือนในสมัยนี้
พระปิดตา นะทะนะ เนื้อใบลาน อยู่ในรายการที่ 14 ของ “รายการพระเครื่อง
วัตถุมงคล” ในใบปลิว (โบชัวร์) “ขอเชิญชมวัตถุมงคล” (ปี 2524 หลังหลวงปู่ มรณภาพ)
14. พระปิดตามหาลาภ หลังตัวนะ เนื้อผงใบลานบรรจุตะกรุดคู่ และเส้นเกศา ปี 2522 ราคา 50 บาท
เรามีข้อมูลเท่าที่เห็นจากใบปลิว แล้วเราลองมาวิเคราะห์จากข้อความกันดีกว่า
รายการที่ 14 ถึงแม้จะเขียนแค่ “หลังตัวนะ” แต่รายการนี้คือพระปิดตา นะทะนะ เพราะสร้างปี 2522 เป็นเนื้อผงใบลานและมีตะกรุดสองดอก ซึ่งในช่วงปี 2522 มีแค่ พระปิดตา นะทะนะ กับ พระปิดตา ปลดหนี้ หลังยันต์นะ (2521-2523) เท่านั้นที่มี ยันต์นะ และ พระปิดตา ปลดหนี้ ใบลาน หลังยันต์นะ ได้อยู่ใน รายการที่ 32
เรามาค้นหาเหตุผลกันดีกว่า ว่าจากที่วัดเรียกแค่ “หลังตัวนะ” ได้กลายเป็น “นะทะนะ” ได้อย่างไร
เราลองย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2522 (เริ่มออกให้บูชา) แล้วเรายังไม่เคยเห็น พระปิดตา นะทะนะ มาก่อน เราและลูกศิษย์ท่านอื่นๆ คงเคยเห็นยันต์นะมหาเศรษฐีผ่านตามาบ้างแล้ว จากเหรียญกลมเล็ก ปี 2512 และเห็นพระพิมพ์นี้เป็นครั้งแรก มียันต์อะไรก็ไม่รู้อยู่ตรงกลาง แถมมียันต์นะมหาเศรษฐีประกบคู่ซ้ายขวา บางคนรู้จักยันต์นี้ แต่หลายๆคนก็ไม่รู้จัก สมมติว่าเราก็ไม่รู้จัก เราก็จะถามว่า ยันต์นี้คือยันต์อะไร แล้วน่าจะตามด้วยการถามต่อว่า “อ่านว่าอะไรนะ?” เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน
ยันต์ตรงกลางที่ว่านี้คือ ยันต์เฑาะว์
ยันต์เฑาะว์ ถ้าอ่านออกเสียงให้ถูกจะอ่านว่า ยันต์ฑ้อ แล้วถ้าอ่านออกเสียงยันต์ทั้งสามก็เป็น “นะ ฑ้อ นะ” แต่ด้วยที่ว่า “ฑ้อ” นั้นอ่านออกเสียงที่สั้นและค่อนข้างลำบาก แล้วเป็นการพูดกันแบบปากต่อปาก และไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงกลายเป็นการเรียกแบบง่ายๆว่า “นะ ทะ นะ” ทั้งที่ คำว่า “ทะ” ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
จะเรียกว่าพระปิดตา ยันต์นะทะนะ ก็จะไม่ถูกซะทีเดียวเพราะ ”ทะ” ไม่ใช่ชื่อยันต์ เพราะฉะนั้น ที่เราเรียกว่า พระปิดตา นะทะนะ จะเหมาะสมกว่า
พระพิมพ์นี้มีคำว่า “วัดประตูฉิมพีล” อยู่ด้านบน, ยันต์ทั้งสามอยู่ตรงกลาง, และคำว่า “หลวงปู่โต๊ะ” ไว้ด้านล่าง
เรามาดูว่าทำไมถึงมีทั้งยันต์เฑาะว์ กับยันต์นะ
ยันต์เฑาะว์ มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง ใช้ป้องกันภูตผีปีศาจ แล้วยังใช้แก้โรคภัยไข้เจ็บทั้งภายในและภายนอกได้ดี สมัยก่อน (สาธารณสุขยังเข้าไม่ถึงสะดวก) เมื่อปวดหัว ปวดบวม หรือเป็นฝีตามร่างกาย ก็จะลงยันต์เฑาะว์เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
ถ้าจะให้ตีความหมายของการใช้ยันต์ "นะ เฑาะว์ นะ" ด้านหลังของตัวองค์พระในพิมพ์นี้ ก็หมายถึง การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นศูนย์กลาง (คือตัวเรา) และมีโชคลาภอยู่รอบตัวของเรา เรียกได้ว่ามีความหมายที่ดี ทั้งสุขภาพและการเงินเลยทีเดียว
Comments